ประวัติโรงเรียนสวนศรีวิทยา
โรงเรียนสวนศรีวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 280 ถนนหลังสวน ตำบลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รหัสไปรษณีย์ 86110 ตามหลักฐานของทางราชการระบุว่าก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2442 โดยอาศัยโรงธรรมของวัดโตนดเป็นสถานที่เรียน ใช้ชื่อในระยะเริ่มก่อตั้งว่า "โรงเรียนอุดมวิทยากร" ต่อมาได้ย้ายจากวัดโตนดมาตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนหลังสวน "สวนศรีวิทยา" ภายหลังได้รับโอน โรงเรียนสตรีหลังสวน มารวมเข้าด้วยกันโดยจัดเป็นโรงเรียนสหศึกษาและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนสวนศรีวิทยา" ตราบเท่าทุกวันนี้
กำเนิดโรงเรียนอุดมวิทยากร
ในราวปี พ.ศ. 2442 พระครูธรรมวิจิตรอุดมปัญญาปรีชามุนี (ยัง) เจ้าอาวาสวัดโตนด และเจ้าคณะจังหวัดหลังสวนได้มรณภาพลงในระหว่างการเดินทางกลับจากนมัสการพระธาตุชะเวดากอง ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เนื่องจากเรือที่โดยสารมาอับปางกลางทะเลอันดามัน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “พระครูตกเล”
ต่อมาศิษย์ของท่าน คือ เจ้าคุณธรรมารามคณีสุปรีชา สังฆปาโมกข์ (หนู อชิโต) ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโตนดสืบแทนต่อมา และได้นำอัฐิของ พระครูธรรมวิจิตรอุดมปัญญาปรีชามุนี (ยัง) มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้โดยสร้าง โรงทิม (ต่อมาเรียกกันว่า "โรงธรรม") ซึ่งเป็นโรงประกอบพิธีขนาดใหญ่มีระเบียงลดหลั่นกันหลายชั้น ทำด้วยไม้อย่างถาวรขนาดกว้างประมาณ 10 วา ยาวประมาณ 10 วา หลังจากเสร็จจากการทำบุญอัฐิแล้ว เจ้าคุณธรรมโกษาจารย์ ซึ่งมาร่วมงานทำบุญอัฐินี้ด้วยได้ปรารภว่า “หลังสวนนี้สมบูรณ์ดีทุกอย่าง แต่ยังขาดโรงเรียน” ก็เลยให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่โรงธรรมนั้นและได้เปิดทำการสอนเมื่อ พ.ศ. 2442 โดยมี เจ้าคุณศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลชุมพร ในฐานะตัวแทนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้มาตรวจราชการที่จังหวัดหลังสวน และเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียน เจ้าคุณศาสนดิลก ได้ให้นักเรียนเขียนตามคำบอกในวันทำพิธีเปิดโรงเรียนว่า “โรงเรียนให้ชื่อว่า อุดมวิทยากร” โรงเรียนจึงมีชื่อว่า "โรงเรียนอุดมวิทยากร" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
โรงเรียนอุดมวิทยากร เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมูลถึงชั้นประถมปีที่ 3 เป็นสหศึกษา นักเรียนในสมัยนั้นมีทั้งพระ สามเณร และคฤหัสถ์ อายุประมาณ 15 – 25 ปี และมักจะเป็นผู้ที่รู้หนังสือมาแล้ว ครั้น พ.ศ. 2456 ได้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 – 3 และชั้นมัธยมปีที่ 1 – 3 โดยจัดให้นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 – 3 เรียนที่ศาลาเล็กด้านในหลังวัด และชั้นมัธยมปีที่ 1 – 3 เรียนที่ศาลาใหญ่ด้านนอกหน้าวัด เมื่อนักเรียนหญิงและนักเรียนชายมาเรียนรวมกันซึ่งล้วนก็เป็นหนุ่มสาว จึงได้จัดซื้อบ้านสองชั้นพร้อมที่ดินของ ขุนเฟื่องวิธีหัด ศึกษาธิการจังหวัดหลังสวนในสมัยนั้น ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดโตนด ให้นักเรียนหญิงใช้เป็นตึกเรียนและเรียกกันติดปากว่า โรงเรียนหญิง และโรงเรียนอุดมวิทยากร ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่างอุดมวิทยากร สอนนักเรียนชาย และ โรงเรียนอุดมวิทยากรอนุกูลสตรี (โรงเรียนหญิง) สอนนักเรียนหญิง โดยที่โรงเรียนทั้งสองตั้งอยู่คนละฟากของถนนแต่มีป้ายโรงเรียนว่า โรงเรียนตัวอย่างอุดมวิทยากร อยู่ตรงบริเวณทางเข้าโรงเรียนชาย
ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2460 เปิดสอนชั้นประถมปีที่ 1 – 5 และชั้นมัธยมปีที่ 1 – 6 สาเหตุที่มีคำว่า “ตัวอย่าง” นำหน้าป้ายชื่อโรงเรียนน่าจะเป็นเพราะว่าในสมัยนั้นโรงเรียนต่างๆ ก่อตั้งขึ้นหลายโรงจึงทำให้ โรงเรียนอุดมวิทยากร เป็นตัวอย่างแก่โรงเรียนอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากมีเจ้าหน้าที่ของจังหวัด เช่น ศึกษาธิการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดมาเยี่ยมชมโรงเรียนอยู่เสมอ
ย้ายโรงเรียนจากวัดโตนดมาตั้งในสถานที่ปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนหลังสวน “สวนศรีวิทยา”
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 จังหวัดหลังสวน ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดชุมพร ทำให้เรือนจำขังนักโทษถูกยุบไปด้วยเพราะได้ย้ายนักโทษไปที่เรือนจำจังหวัดชุมพร อาคารและบ้านพักในเรือนจำถูกรื้อไปด้วยยังคงเหลืออยู่แต่เรือนนอนของนักโทษชายกับเรือนนอนของนักโทษหญิง ขุนวิชาการพิสิฎฐ์ (เนื้อม ถาวรบุตร) ครูใหญ่โรงเรียนตัวอย่างอุดมวิทยากร ได้นำเงินที่ รองอำมาตย์ตรี ขุนบูรณวุฒิ (มี สารเกษตริน) ครูใหญ่คนที่ 2 ของโรงเรียนอุดมตัวอย่างวิทยากร ที่ได้จัดชกมวยไทยการกุศลประจำปีมาซื้อที่ดินและเรือนนอนนักโทษจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย เป็นเงิน 3,000 บาท (สามพันบาทถ้วน) โดยจ้างช่างชาวจีนจากจังหวัดชุมพรด้วยเงินหลวงแผ่นดิน (สมัยนั้นยังไม่มีงบประมาณประจำปี) ให้รื้อฝาและกั้นห้องเรือนนอนนักโทษชายชั้นบนได้ 6 ห้อง และห้องที่เป็นห้องครูใหญ่อีก 1 ห้อง ทำบันไดกลาง ต่อมาทำมุขหลังคาคร่อมบันได ทำลูกกรงด้านหน้า ส่วนชั้นล่างปล่อยโล่งตลอด และทาสีใหม่ ส่วนเรือนนอนนักโทษหญิงดัดแปลงเป็นบ้านพักภารโรง ในปีเดียวกันนั้นเองได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนหลังสวน “สวนศรีวิทยา”
รับโอน โรงเรียนสตรีหลังสวน มารวมจัดเป็นสหศึกษา
ในปี พ.ศ. 2509 โรงเรียนหลังสวน “สวนศรีวิทยา” ได้รับโอน โรงเรียนสตรีหลังสวน มารวมจัดเป็นสหศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2509 แต่ได้รับการโอนจริงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2509 ถึงแม้ว่าจะโอนมารวมกันแล้วก็ตามแต่เนื่องจากอาคารเรียนเดิมไม่เพียงพอที่จะเปิดทำการสอนในบริเวณเดียวกันได้จึงต้องอาศัยอาคารเรียนของ โรงเรียนสตรีหลังสวน (เดิม) เป็นสถานที่เรียนไปพลางๆ ก่อน
เปลี่ยนชื่อจาก โรงเรียนหลังสวน “สวนศรีวิทยา” เป็น โรงเรียนสวนศรีวิทยา
ในวันที่ 5 มีนาคม 2514 โรงเรียนได้รับหนังสือ ที่ ชพ 52/1457 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2514 จากนายอำเภอหลังสวนแจ้งว่ากระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แผนกวิทยาศาสตร์ จำนวน 1 ห้องเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2514 เป็นต้นไป และให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก โรงเรียนหลังสวน “สวนศรีวิทยา” เป็น โรงเรียนสวนศรีวิทยา
ในปีการศึกษา 2541 โรงเรียนได้รับบริจาคอาคารหอสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก (อาคารศรีสุบัติ) ราคา 6.5 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 นายแพทย์ยงยุทธ แพทย์หญิงสุนันทา (ศรีสุบัติ) พลอยส่องแสง ผู้บริจาค 3.5 ล้านบาท และคุณขจรเดช คุณจำนูน (ศรีสุบัติ)จารุจินดา ผู้บริจาค 3 ล้านบาทได้ทำสัญญาก่อสร้างอาคารหอสมุดดังกล่าว การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีรับมอบอาคารเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และเปิดใช้งานในปีการศึกษา 2542
ในปีการศึกษา 2542 เป็นปีที่โรงเรียนสวนศรีวิทยาก่อตั้งครบ 100 ปี คณะศิษย์เก่าร่วมกับสมาคมผู้ปกครองและครูสวนศรีวิทยา ชุมชนชาวหลังสวน ครูและบุคลากรโรงเรียนสวนศรีวิทยาได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลอง "100 ปี สวนศรี" เพื่อหารายได้มาพัฒนาห้องสมุดโรงเรียน จัดทำระบบ Internet, CD-ROM และระบบห้องสมุดอัติโนมัติ และในโอกาสเดียวกันนี้ทางคณะศิษย์เก่ารวมทั้งผู้ที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างรั้วโรงเรียนใหม่อีกด้วย โดยดำเนินก่อสร้างในปีการศึกษา 2543 ประตูโรงเรียนเป็นอัลลอยด์สวยงาม แต่ละช่องรั้วเป็นเสาปูนแทรกด้วยโครงสแตนเลสสวยงาม มูลค่าบริจาคแต่ละช่องรั้วเป็นเงิน 11,500 บาท
|